สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1620  ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้แต่ไม่มีผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย

วรรคสอง ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทำพินัยกรรมไว้ แต่พินัยกรรมนั้นจำหน่ายทรัพย์หรือมีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก ให้ปันส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7005 - 7006/2555 ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1629 รวมทั้งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัวและบรรพ 6 มรดก ไม่มีข้อความใดที่บ่งชี้หรือแสดงให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (3) ถึง (6) ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก คงมีแต่ข้อความที่บ่งชี้ให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (1) เฉพาะชั้นบุตรและ (2) เท่านั้นที่ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก ทั้งนี้ตามมาตรา 1461 ถึงมาตรา 1484/1 และมาตรา 1627 ดังนั้น ไม่ว่าบิดาของผู้ตายจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ความเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน (5) ปู่ ย่า ตา ยาย (6) ลุง ป้า น้า อา ของผู้ตายเปลี่ยนแปลงไป เพราะกฎหมายมิได้กำหนดว่าการเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ชอบด้วยกฎหมายต้องให้บิดาของผู้ตายเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายหรืออย่างไรจึงถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ ต้องถือความเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ตามความเป็นจริง เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นน้องชายของ พ. ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นอาของผู้ตายอันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ (6) ของผู้ตายตามมาตรา 1629 (6) เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้และไม่มีทายาทโดยธรรมลำดับ (1) ถึง (5) ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1620, 1629 และ 1630

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9599/2553 การตัดไม่ให้ทายาทโดยธรรมได้รับมรดกในกรณีที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 กำหนดไว้ 2 กรณี กรณีแรกคือเจ้ามรดกแสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมโดยชัดแจ้งด้วยการระบุตัวทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก กรณีที่สองคือเจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดโดยไม่มีทายาทโดยธรรมคนที่เจ้ามรดกประสงค์จะตัดมิให้รับมรดกมีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์ใด ๆ ในพินัยกรรมนั้น เมื่อตามพินัยกรรมไม่ระบุว่าตัดโจทก์มิให้รับมรดกโดยชัดแจ้งและที่ยกทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท 6 คน โดยไม่มีชื่อโจทก์นั้น มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า หมายถึงเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่เจ้ามรดกมีสิทธิในกองมรดกของ อ. ครึ่งหนึ่งในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่ที่ดินพิพาทตามข้อ 5 ของพินัยกรรมเป็นทรัพย์มรดกที่เป็นสินส่วนตัวของเจ้ามรดกที่ได้รับการยกให้มาจาก พ. จึงเป็นคนละส่วนกัน เมื่อตามพินัยกรรมข้อ 5 คงมีแต่คำสั่งของเจ้ามรดกที่ให้ผู้จัดการมรดกขายที่ดินพิพาทแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ โดยมิได้มีคำสั่งของเจ้ามรดกว่า หากการชำระหนี้มีเงินเหลือให้ตกได้แก่ผู้ใด หรือหากมีกรณีที่ทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่มีการดำเนินการตามนั้นจะให้ตกได้แก่ผู้ใด ทั้งปรากฏว่าได้มีการไถ่ถอนทรัพย์จำนองที่ดินพิพาทจากธนาคารเจ้าหนี้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จึงเป็นกรณีที่ข้อกำหนดในพินัยกรรมเรื่องการชำระหนี้เกี่ยวกับทรัพย์สินรายนี้เป็นอันไร้ผล ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1699 และ 1620 วรรคสอง โจทก์เป็นบุตรคนหนึ่งในจำนวนบุตร 8 คน ของเจ้ามรดก ย่อมมีสิทธิได้รับหนึ่งในแปดส่วนของที่ดินพิพาทตามมาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 1633

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4397/2553 เจ้ามรดกทำพินัยกรรมมีข้อความย่อหน้าแรกระบุว่า ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นางลูกจันทร์ โจทก์ร่วม และนางมาลัย และย่อหน้าที่สองระบุว่าหากว่าจะมีใครอื่นนอกจากที่ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดกทั้งสิ้น ดังนั้น แม้เจ้ามรดกจะไม่ได้ระบุตัวทายาทที่ถูกตัดมิให้รับมรดกว่า คือ นายจุล นางสาวลำพวน และจำเลยที่ 1 ไว้โดยชัดแจ้ง แต่การที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกของตนทั้งหมดให้แก่นางลูกจันทร์ โจทก์ร่วม และนางมาลัยไปหมดแล้ว ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และทายาทคนอื่นที่ไม่ได้รับทรัพย์มรดกจากพินัยกรรม เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสามแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า ข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของนางลูกจันทร์ และนางมาลัยไม่มีผลใช้บังคับ เพราะขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1653 ประกอบ มาตรา 1705 คงสมบูรณ์เฉพาะข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของโจทก์ร่วม ดังนั้น ทรัพย์มรดกส่วนที่มีข้อกำหนดให้ตกเป็นของนางลูกจันทร์และนางมาลัยซึ่งเสียเปล่าไม่มีผลใช้บังคับนั้นจึงตกแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1620 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1699

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7199/2552 จำเลยไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับมรดกบ้านและที่ดินพิพาทมาเป็นของตน เนื่องจากบ้านและที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมระบุยกให้แก่โจทก์ทั้งสามแล้ว เพียงแต่เงื่อนไขบังคับก่อนที่กำหนดให้บ้านและที่ดินพิพาทตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสามยังไม่สำเร็จเพราะจำเลยยังไม่ถึงแก่ความตายเท่านั้น บ้านและที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์นอกพินัยกรรมอันจะตกทอดแก่จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1620